วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

เทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ-วันครอบครัว

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.







      สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำ สันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"







      คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13,14,15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก







       ปกติวันสงกรานต์จะมี 3 วัน คือ เริ่มวันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน วันแรกคือวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที 0 องศา) วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริง ๆ มีถึง 4วัน คือวันที่ 13-16 เป็นวันเนาเสีย 2 วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว

     โดยมึสูตร หา หรคุณจูเลียน (JD) วันมหาสงกรานต์ และ วันเถลิงศกดังนี้


     JD วันมหาสงกรานต์ = ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) -559)/800] + 1954167




     JD วันเถลิงศก= ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) +1173)/800] + 1954167




     จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง

    ตามประกาศสงกรานต์จุลศักราช ๑๓๗๓

พุทธศักราช ๒๕๕๔ ปีเถาะ ตรีศก จันทรคติเป็นปกติมาส ปกติวาร สุริยคติเป็นปกติสุรทิน วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๑๓ นาฬิกา ๓๓ นาที ๓๖ วินาที ตรงกับเวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๑ นาที ๓๖ วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทย)

นางสงกรานต์นามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา

หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร(ช้าง)เป็นพาหนะ เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ พุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า

ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า เกณฑ์นาคราชให้น้ำปีเถาะ นาคราชให้น้ำ ๒ ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม และปลายปีอุดมดีแล เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนา จะได้ ๑๐ ส่วน เสียเพียงส่วนเดียว ธัญญาหาร มังสาหารบริบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข วันเถลิงศกตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๑ นาที ๑๒ วินาที

ตรงกับเวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๙ นาที ๑๒ วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทย)





     พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการ และมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ







      เทศกาลสงกรานต์ นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยแล้ว ยังถือเป็นวันสำคัญของคนไทยอีก คือ วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันครอบครัว

     วันผู้สูงอายุแห่งชาติ คือ วันสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา สังคมวัฒนธรรม ความมั่นคงทางรายได้ การทำงาน และด้านสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกปี อาทิ การกราบขอพรและการมอบของขวัญให้แก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น

    วันครอบครัว จะตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันแห่งครอบ ครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย ด้วยเหตุผลว่าในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

    จะเห็นได้ว่าเทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้าน ไปหาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ รดน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ เป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิต เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังเป็นวันที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสานสัมพันธ์กันภายในครอบครัว

     เป็นความงดงามที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น