วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

20 มีนาคม วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช



      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” พระราชสมภพ เมื่อ วันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2279 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นบุตรคนที่ 4 ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระนามเดิม "ทองดี") และพระอัครชายา (พระนามเดิม "หยก"หรือ ดาวเรือง)
เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษาี หลังจากโสกันต์แล้วได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ ( ขุนหลวงดอกมะเดื่อ )
เมื่อ พ.ศ. 2300 พระชนมายุ 21 พรรษาี ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย 1 พรรษา เมื่อลาสิกขาบทแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง หลังจากนั้นได้ทูลขอ “กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์” ซึ่งขณะนั้นมีพระนามว่า “นาค” มีภูมิลำเนาอยู่ที่อัมพวา แขวงเมืองราชบุรี มาเป็นพระชายา เมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้ 25 พรรษา ได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี


      เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกได้ 1 ปี เมื่อพระชันษา 32 ได้เข้ามาถวายราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ในตำแหน่ง พระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกู้บ้านเมืองหลายครั้งหลายคราว เมื่อเสร็จศึกในการปราบชุมนุมพิมาย ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ พ.ศ. 2313 เมื่อครั้งปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง มีความชอบได้เป็นพระยายมราช และทำหน้าที่สมุหนายก พ.ศ. 2314 ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาจักรี คุมทัพไปรบกับพม่า เสร็จศึกพม่าแล้ว ได้ยกทัพไปตีเขมรมาเป็นเมืองขึ้น พ.ศ. 2319 เป็นแม่ทัพไปตีเขมรป่าดง ( สุรินทร์ ขุขันธ์ สังขะ ) แคว้นลาวทางใต้ ได้เมืองจำปาศักดิ์ สีทันดร อัตตะปือ เสร็จศึกได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศรราช สุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนปรินายก และได้เคยรบกับ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพคนสำคัญของพม่าที่เมืองพิษณุโลก จนถึงกับแม่ทัพพม่าขอเจรจาหยุดรบเพื่อขอดูตัว และได้กล่าวยกย่องสรรเสริญว่า “ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข็มแข็งอาจสู้รบกับเราผู้เฒ่าได้ จงอุตสาห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้”

       ครั้นปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุง กล่าวคือ กรรมบันดาลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระอัธยาศัยผิดปกติไปจากพระองค์เดิม ก่อความเดือดร้อนให้แก่ปวงชนทั้งภิกษุและฆราวาส พระยาสวรรค์กับพวกจึงคิดการกบฏ ควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปขังไว้แล้วตนออกว่าราชการแทน จึงเกิดความกันระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายกบฏกับฝ่ายต่อต้านกบฏ ขณะนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการ ทัพอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ทราบข่าวการจลาจลจึงรีบยกทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (ตรงกับ วันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล จัตราศก จุลศักราช 1144) ราษฎรเป็นจำนวนมากต่างพากันชื่นชมยินดี ออกไปต้อนรับ ต่างขอให้ช่วยปราบยุคเข็ญ ครั้นมาถึงพระราชวัง ข้าราชการ ทั้งปวงก็พากันอ่อนน้อมแล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา นับเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี ซึ่งพระราชวงศ์นี้ได้มีพระมหากษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมาตราบจนทุกวันนี้

     พระบรมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี ทรงเป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามเดิมว่า นาค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้ง 42 พระองค์ และพระราชโอรสที่ประสูติในพระอัครมเหสี มี 9 พระองค์
อยู่ในราชสมบัติ 27 ปี เสด็จสวรรคต 7 กันยายน 2352 รวมพระชนมายุ 73 พรรษา

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดฯให้สร้าง พระมหานครใหม่ ในที่อันเหมาะสมกว่ากรุงธนบุรี ด้วยทรงประจักษ์ว่า ที่ตั้งของกรุงธนบุรีไม่มั่นคงพอ เนื่องจากอริราชศัตรูยกกำลังมาประชิดได้ง่าย ไม่สะดวกในการป้องกันราชธานี จึงทรงย้ายพระนครจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มาสถาปนาขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออก
เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งล่วงแล้ว 45 นาที ได้โปรดให้ยกเสาหลักเมืองขึ้น การก่อสร้างพระมหานครเริ่มดำเนินไปตั้งแต่นั้นจนลุล่วงตามพระราชประสงค์


        การปกครองประเทศนั้น ทรงจัดแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ส่วนตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์นั้น คือ ตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และในส่วนข้าราชการนั้นมีอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ พระสมุหกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชการฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก มีหน้าที่ดูแลปกครองความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปในพระนคร

ส่วนตำแหน่งรองลงมาอีก 4 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์ ประกอบด้วย


        - เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง ใช้ตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปในราชอาณาจักร



        - เสนาบดีกรมวัง ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิกร (โค) เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่ง


       - เสนาบดีกรมพระคลัง ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ในการรับ-จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วนอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่า และการค้าขายที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ และกรมพระคลังต่าง ๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า




      - เสนาบดีกรมนา ใฃ้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชา เกี่ยวกับกิจการนาไร่ทั้งหมด




      พระราชนามเต็ม


      สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาศกรวงษ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยคโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทราชาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอัขณิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราช เดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรปรมาธิเบศรไลกเชฐวิสุทธรัตนมงกุฏ ประเทศคตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


การถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการสงคราม ศาสนา การปกครอง และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และทรงฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขุดลอกคูคลอง วัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่ และที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ การป้องกันประเทศ ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านสาขาต่าง ๆ ทั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่ และที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ การป้องกันประเทศ ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม งานช่างปิดทองรดน้ำ งานช่างประดับมุก งานช่างเขียน งานแกะสลัก เป็นต้น ด้วยทรงมีพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูประเทศขึ้นมาให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเท่าเทียมกับกรุงศรีอยุธยา ราชธานีเก่าซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก ต้องอาศัยทั้งพระปรีชาสามารถและทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากแต่ก็สามารถทำให้สำเร็จลงได้ ดังนั้นเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการชักชวนประชาชนชาวไทย ถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” ต่อท้ายพระนามาภิไธยด้วยประชาชนทั้งหลายนั้น ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในการที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นไทย


      พระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ 1

      เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็น พฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขวา อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้คราวพระราช พิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 พฤษภาคม 2554 เวลา 19:50

    เราในฐานะชาวไทย
    ควรน้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์
    ระลึกถึงพระคุณ และ ตอบแทนพระคุณพระองค์ท่าน

    ด้วยการรักกันให้มาก สามัคคีกันให้มาก รักประเทศไทยให้มาก

    ตอบลบ