วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โอไอซี ประณามผู้ก่อเหตุร้าย ไม่แทรกแซงไทย ไม่หนุนแยกดินแดน


โอไอซี ประณามผู้ก่อเหตุร้าย ไม่แทรกแซงไทย ไม่หนุนแยกดินแดน

          ผู้แทนพิเศษโอไอซีเริ่มภารกิจในเมืองไทยแล้ว จับเข่าคุย "รมต.ต่างประเทศ-เลขาฯ สมช." ถามความคืบหน้าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นลงพื้นที่ชายแดนใต้ ถกเลขาฯ ศอ.บต. ผู้ว่าฯและผู้นำศาสนา 5 จังหวัด ยืนกรานไม่แทรกแซงไทย ไม่หนุนแยกดินแดน แต่แนะเร่งคดีความมั่นคง พร้อมใช้มิติทางวัฒนธรรมแก้ปัญหา ย้ำ "เยียวยา" ไม่ใช่กลไกสำคัญในการยุติความขัดแย้ง แต่ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมแบบเสมอภาค
          การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วันแรกของ นายซาเยด คาสเซม เอล-มาสรี (H.E.Mr.Sayed  Kassem El-Masry) ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม    (โอไอซี) พร้อมคณะ เมื่อวันพุธที่ 9 พ.ค.2555 ได้มีการพบปะหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และบุคคลสำคัญอีกหลายราย รวมทั้งร่วมกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่

          ที่ห้องประชุม ศอ.บต. คณะของ นายซาเยด คาสเซม ได้ประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ประธานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน ภาค 4 สน.) และผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และทิศทางการแก้ไขปัญหา 
          ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุม นายซาเยด คาสเซม ยังได้พบและพูดคุยกับบัณฑิตอาสาประมาณ 200 คนที่มารอต้อนรับด้วย
          นายซาเยด คาสเซม กล่าวตอนหนึ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสเข้าพบบุคคลระดับสูงในรัฐบาล ทำให้มีความประทับใจในการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นไปในทางบวก รู้สึกประทับใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญกับภาษาถิ่น (มลายู) ในสถาบันการศึกษาของรัฐ รวมทั้งเป็นสิ่งที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องการพูดคุยกับทุกฝ่าย ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในอนาคต
          "ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยทั่วๆ ไปในโลกนี้ เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาคือการใช้แนวทางสันติวิธีสร้างความเข้าใจและให้เกียรติ ยอมรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้ ทราบว่าในอนาคตรัฐบาลจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และจะกลับมาใช้กฎหมายปกติ ก็รู้สึกดีใจ เพราะทราบดีว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีส่วนที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโอไอซีเป็นห่วง"

ไม่แทรกแซงไทย-ไม่หนุนแยกดินแดน-ประณามพวกก่อเหตุร้าย
          นายซาเยด คาสเซม กล่าวอีกว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น โอไอซีได้ให้ความสนใจเพื่อศึกษาและแสวงหาแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโอไอซี กระทั่งปี 2550 เลขาธิการโอไอซี (นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู ; Ekmeleddin Ihsanoglu) กับรัฐบาลไทย ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือบนพื้นฐานของการให้เกียรติ เพราะโอไอซีไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย แต่ให้ความสนใจกับปัญหาของประเทศไทยอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่คนมุสลิมเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญทั้งหมดกับคนทุกศาสนา
          จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่  โอไอซีขอประณามผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงทุกระดับ การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไทยพุทธ คัมภีร์อัลกรุอานบอกไว้ว่า การฆ่าหนึ่งชีวิตเหมือนกับฆ่าคนทั้งโลก อยากให้ทางรัฐบาลใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหานี้ และโอไอซีไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย

เผยโอไอซีห่วงปมสิทธิมนุษยชน-คดีความมั่นคง
          ภายหลังการประชุม พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย นายนิสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการภาค 9 ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า นายซาเยด คาสเซม และคณะ ได้รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยต่อกรณีปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมองว่าประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องอัตลักษณ์และ ชาติพันธุ์ โดยได้มีการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ ให้มีการใช้วัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น ใช้ภาษามลายูกลางมาผสมผสาน รวมทั้งการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน 
          พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำอย่างไรที่จะให้โอไอซีเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศมุสลิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว 
          "คณะผู้แทนโอไอซีได้ชื่นชมยุทธศาสตร์การทำงานของรัฐบาลทุกรัฐบาลในด้านการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนงานด้านกระบวนการยุติธรรมและคดีความมั่นคงที่อยู่ในชั้นศาลนั้น มีจำนวนคดีที่รอการพิจารณาน้อยอยู่ และมีขั้นตอนในการพิจารณาที่ล่าช้าเกินไป" พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงข้อสังเกตของคณะผู้แทนจาก โอไอซี
          นายนิสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการภาค 9 กล่าวว่า การจัดการคดีความมั่นคงให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนั้น จะต้องปรับกระบวนพิจารณาใหม่เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม เกี่ยวกับการจัดตั้งรูปแบบการพิจารณาเฉพาะทางเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยยังคงความเป็นธรรมไว้เช่นเดิม และเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ

"เยียวยา"ไม่ใช่กลไกสำคัญในการแก้ปัญหา
          หลังเสร็จภารกิจที่ จ.ยะลา นายซาเยด คาสเซม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่เชิงเขาบูโด หมู่ 1 ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หรือที่รู้จักกันในนาม "มัสยิด 300 ปี" พร้อมพูดคุยกับผู้นำศาสนาและประชาชนที่มารอต้อนรับ
          จากนั้น คณะของที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษเลขาธิการโอไอซี ได้เดินทางต่อไปยัง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพบปะกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดย นายซาเยด คาสเซม กล่าวตอนหนึ่งว่า การเยียวยาแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่กลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง และทำให้ทุกคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยที่รัฐต้องไม่แสดงท่าทีปกป้องกรณีที่ความรุนแรงนั้นเกิดจากฝ่ายรัฐเอง
 
"โอไอซี"ถามความคืบหน้าเลิก พ.ร.ก.ใต้
          สำหรับภารกิจเมื่อวันอังคารที่ 8 พ.ค.ของ นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี และคณะ ได้เข้าพบและหารือกับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ   
          โดย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้เชิญคณะผู้แทนระดับสูงของโอไอซีเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของ กต. เพื่อให้คณะผู้แทนโอไอซีได้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาลว่าได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยยึดแนวยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
          ขณะเดียวกันรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุต่างๆ ในภาคใต้ ขณะที่ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี ก็เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องศาสนา และประณามผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะเหตุระเบิดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา(คาร์บอมบ์ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา)
          "การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนหลังจากที่ได้มาเยือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งพัฒนาการด้านต่างๆ ก็ดีขึ้น จำนวนเหตุการณ์รุนแรงก็ลดน้อยลง คิดว่าการเยือนไทยของคณะโอไอซีน่าจะเป็นประโยชน์และพูดถึงประเทศไทยในเวทีการประชุมในทิศทางที่ดีขึ้น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้แทนพิเศษโอไอซีให้ความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าได้ทะยอยยกเลิกในบางพื้นที่แล้ว เพื่อกลับมาใช้กฎหมายความมั่นคงตามปกติ ส่วนจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมดได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
          เมื่อถามว่า ผู้แทนพิเศษโอไอซีสอบถามเรื่องการละเมิดสิทธิคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดถึง แต่ได้ชี้แจงภาพรวมถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาว่าทำอะไรบ้าง ขณะที่กรณีกรือเซะก็ไม่ได้สอบถามถึงเช่นกัน

 ถกเลขาฯ สมช.เห็นพ้องปมขัดแย้งไม่ใช่เรื่องศาสนา      
          วันเดียวกัน นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ยังได้นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซี เข้าพบและหารือกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่อาคารสภาความมั่นคงแห่งชาติ ภายในทำเนียบรัฐบาลด้วย
          ภายหลังการหารือ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า โอไอซีมีหน้าที่ติดตามดูแลความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมทั่วโลก การเยือนไทยครั้งนี้ก็เพื่อติดตามดูความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการหารือก็ได้ชี้แจงถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2555-2557 ว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน มีการทำประชามติร่วมกับชาวมุสลิมของประเทศปากีสถานและมาเลเซียด้วย ที่สำคัญนโยบายนี้ได้ผ่าน สมช. ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐสภา โดยคณะผู้แทนพิเศษโอไอซีได้ชื่นชมนโยบายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
          นอกจากนั้่น ยังได้ชี้แจงถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งมี พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 11 พ.ค.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้ข้อมูลถึงการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีด้วย
          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่หรือไม่  พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ทางโอไอซีได้ทราบถึงสถานการณ์อยู่แล้ว ส่วนมากจะถามถึงเรื่องการดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหา และอยากเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งโอไอซีเองก็พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
          "การหารือในครั้งนี้เห็นตรงกันคือ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งสะสมมานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขในทางที่ถูกต้อง" เลขาฯสมช.กล่าว

 ***********************


คำแถลงข่าวร่วม
ในการเดินทางเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงของโอไอซี
๑๓ พ.ค. ๕๕
๑. คณะผู้แทนระดับสูงขององค์การความร่วมมืออิสลามโลก (OIC) นำโดย Ambassador Sayed Kassem El-Masry ที่ปรึกษา และคณะทำงานพิเศษของเลขาธิการโอไอซี เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง ๗ ๑๓ พ.ค. ๕๕ ตามคำเชิญของ ดร.สุรพงษ์ 
โตวิจักษณ์ชัยกุล  รมว.กต.ไทย
๒. ในระหว่างการเยือน ผู้แทนของโอไอซีได้พบปะกับหน่วยงานที่สำคัญของรัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง  รวมถึงได้เดินทางเยือน จชต. และพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ และชุมชนในพื้นที่
๓. ทั้งสองฝ่ายยืนยันการแถลงข่าวร่วมที่มีขึ้นระหว่างการเยือนของเลขาธิการโอไอซี
ในระหว่าง ๓๐ เม.ย.
๑ พ.ค. ๕๐ ว่าเป็นสิ่งสะท้อนความร่วมมือระหว่างไทยกับโอไอซี
๔.  ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำว่ากรณีเหตุการณ์ จชต. เป็นความเร่งด่วนสูงสุดของรัฐบาลไทย และได้บรรบายสรุปให้ผู้แทนโอไอซีรับทราบนโยบายและความพยายามที่รัฐบาลไทยดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการครอบคลุมรอบด้าน ที่จะเข้าถึงรากเหง้าของปัญหาตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ  เข้าถึง พัฒนา  ซึ่งผู้แทนโอไอซีรู้สึกยินดีกับการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น  นับตั้งแต่การเดินทางเยือนของเลขาธิการโอไอซีในปี ๕๐  และเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลไทยก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง  โอไอซียินดีกับการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลไทย และขอให้ฝ่ายไทยเพิ่มความพยายามเยี่ยงนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๕. ผู้แทนโอไอซีรับทราบการยกเลิก พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ของ จชต. และขอให้ฝ่ายไทยได้พิจารณายกเลิกในพื้นที่อื่นของ จชต. ต่อไป  และขอให้เร่งดำเนินการตามแผนการศึกษาที่รัฐบาลไทยได้วางแผนไว้ซึ่งได้ให้ความคำนึงในด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ด้วย  ฝ่ายไทยได้ให้การยืนยันว่า พร้อมที่จะยกเลิก พรก.ฉุกเฉินในทุกที่และทุกเวลา หากสถานการณ์ในพื้นที่อำนวย   ฝ่ายไทยได้กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่าสถานการณ์เหตุรุนแรงที่ยืดเยื้อต่อเนื่องยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามใด ๆ ของรัฐบาลไทยในอันที่จะเสริมสร้างสันติภาพและเสียรภาพ และการพัฒนาอย่างที่ประชาชนใน จชต.ต้องการ
๖.  ฝ่ายไทยยืนยันความจำเป็นที่จะทำให้วงจรแห่งความรุนแรงยุติลง เพื่อที่จะสร้างสภาวะสำหรับสันติภาพ การพัฒนา ความปรองดอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชนทั้งหมดใน จชต.  ทั้งสองฝ่ายประณามการก่อเหตุรุนแรงโดยไม่จำกัดเป้าหมายต่อชีวิตประชาชนที่บริสุทธิ์ว่าขัดต่อคำสอนของอิสลาม
๗.  ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการเดินทางเยือน เป็นสิ่งเน้นย้ำการดำเนินการของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศผู้สังเกตุการณ์ของโอไอซีที่จะกระชับความสัมพันธ์กับองค์การให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  
ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการเดินทางเยือนประสบความสำเร็จในอันที่จะกระชับความร่วมมือในเชิงสร้างสรรระหว่างไทยและโอไอซี  คณะผู้แทนโอไอซีขอแสดงความขอบคุณสำหรับการเชิญ         การเตรียมการอย่างดีเยี่ยม และการต้อนรับที่อบอุ่นโดยฝ่ายไทย  คณะผู้แทนโอไอซีหวังว่าไทย             จะมีบทบาทต่องานต่าง ๆ ของโอไอซีมากยิ่งขึ้นไป(ในอนาคต)
                                                                                            ๑๒ พ.ค. ๕๕ 



JOINT PRESS RELEASE
On the Official Visit of the High-level Delegation of the Organization of Islamic Cooperation (OIC) to Thailand, 7 – 13 May 2012

1. A high-level delegation of the Organization of Islamic Cooperation (OIC) led by H.E. Ambassador Sayed Kassem El-Masry, Adviser and Special Envoy of the OIC Secretary General, paid an official visit to Thailand during 7 – 13 May 2012 at the invitation of His Excellency Dr. Surapong Tovichakchaikul, Minister of Foreign Affairs of Thailand.

2. During the visit, the OIC delegation had constructive meetings with key governmental agencies and a wide range of stakeholders. The OIC delegation also visited the Southern Border Provinces of Thailand (SBPs) and had meetings with key stakeholders and local communities in the area. 

3.  Both sides reaffirmed the Joint Press Statement issued during the visit to Thailand of His Excellency the Secretary General of the OIC from 30 April to 1 May 2007 as reflecting the spirit of cooperation between Thailand and the OIC.

4. The Thai side reiterated that the issue of the SBPs is a top national priority for the Royal Thai Government and briefed the OIC delegation on the policy and efforts being undertaken by the Royal Thai Government to resolve the problem through a comprehensive approach to address root causes of the problem in accordance with the Royal advice of His Majesty the King of Thailand to “Understand, Reach out and Develop”. The OIC delegation welcomed the positive developments since the visit of His Excellency the Secretary General of the OIC in 2007 and believed that the policy of the Royal Thai Government is moving in the right direction. In this regard, the OIC welcomed the efforts being undertaken by the Royal Thai Government and urged the Thai side to intensify these efforts.

5. The OIC delegation noted the lifting of the Emergency Decree in certain areas in the SBPs and urged the Thai side to consider lifting the Decree in other areas of the SBPs. They also urged the acceleration of efforts to implement educational plans as adopted by the Royal Thai Government which attends to aspects of culture and identity. The Thai side assured that the Emergency Decree would be lifted whenever and wherever the situation on the ground permits. The Thai side further emphasized that the perpetuation of violence continued to pose an obstacle to efforts by the Royal Thai Government to promote peace, security and development as desired by the people of the SBPs.
      
6. The Thai side emphasized the need to bring an end to a cycle of violence in order to create a condition for peace, development, harmony and peaceful co-existence of all people in the SBPs. Both sides denounced the indiscriminate acts of violence against innocent civilians as they are against the teaching of Islam.

7. Both sides agreed that the visit underlined the commitment of the Royal Thai Government, as an Observer of the OIC, to strengthen relations with the Organisation. Both sides were of the view that the visit was successful in further strengthening the constructive engagement between Thailand and the OIC. The OIC delegation expressed appreciation for the invitation, excellent arrangements and warm hospitality extended to it by the Thai side. The OIC delegation looked forward to a more active contribution by Thailand in the works of the OIC.

12 May 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น